SRIYA SUWANNARAT AIA FA MDRT Financial Advisor | Tel: 06-2996-5956

ความรับผิดชอบทางการเงินที่วัยกลางคนต้องวางแผน

ความรับผิดชอบทางการเงินที่วัยกลางคนต้องวางแผน

โดยทั่วไป ช่วงชีวิตที่พบกับความท้าทายมากที่สุดของคนเรา มักจะอยู่ในช่วงอายุ 35-45 ปี เพราะเหตุว่า ช่วงชีวิตนี้เป็นช่วงที่กำลังก่อร่างสร้างตัว สะสมทรัพย์สินและความมั่งคั่งอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีภาระการเงินที่ต้องรับผิดชอบและแบกรับรอบด้าน

ความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงวัยกลางคน คือ ปรากฏการณ์ “แก่ก่อนรวย” เนื่องจากช่วงวัยนี้ เป็นช่วงที่อาจต้องเจอภาระค่าใช้จ่ายรอบด้าน ทั้งค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูครอบครัวตัวเอง เลี้ยงดูคนรุ่นพ่อแม่ อีกทั้งภาระหนี้สินที่ยังต้องผ่อน อยู่ไม่ว่าจะผ่อนบ้าน ผ่อนรถ รวมถึงความจำเป็นที่ต้องเก็บเงินตามเป้าหมายส่วนตัวอีก ในขณะที่การงานและรายได้ เพิ่งเริ่มมั่นคงและเติบโต ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะมีเงินไม่พอใช้จ่าย หรือมีเงินเก็บไม่พอกับเรื่องที่จำเป็นต้องใช้ หากไม่ได้วางแผนเตรียมตัวมาก่อนหน้า ดังนั้น ก่อนที่จะพาตัวเองเข้าสู่สภาวะแบบนี้ เราจึงควรทราบถึงภาระต่างๆที่เราต้องแบกรับ และวิธีการจัดการ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับภาระต่างๆ ที่พร้อมจะถาโถมกันเข้ามาให้ดี ได้แก่

1. ความรับผิดชอบต่อตัวเอง
ได้แก่ การบริหารรายรับและรายจ่ายของตัวเองให้พอเลี้ยงชีพ โดยไม่ต้องพึ่งพา หรือเรียกร้องความช่วยเหลือจากคนอื่น มีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือน เพื่อเก็บไว้ใช้ยามเกษียณที่ไม่มีรายได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน

2. ความรับผิดชอบต่อครอบครัว
ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้คนที่อยู่ในอุปการะ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ หรือลูก เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล ยิ่งหากใครที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องเลี้ยงดูทั้งพ่อแม่และลูก ก็ยิ่งมีภาระหนักเป็นสองเท่า (Sandwich Generation) เนื่องจากเป็นคนวัยตรงกลางที่ต้องแบกรับภาระจากทั้งคนที่อายุเยอะกว่า และอายุน้อยกว่าไปพร้อมๆ กัน

3. ความรับผิดชอบต่อภาระหนี้สิน
ได้แก่ ค่าผ่อนทรัพย์สิน เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นต้น ภาพรวมภาระเหล่านี้จะเป็นภาระระยะยาว ซึ่งเราต้องรับผิดชอบไปจนกว่าจะหมดภาระ หรือหากวันหนึ่งเราเป็นอะไรไป ภาระเหล่านี้จะตกไปอยู่กับคนข้างหลัง (ที่เรารัก) ให้ต้องมารับภาระต่อ หากเราไม่ได้เตรียมวางแผนล่วงหน้า

 

ดังนั้น เพื่อจัดการกับภาระการเงินเหล่านี้ เราสามารถคำนึงถึงแนวทาง 4 ประการคือ
1. บริหารและควบคุมค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้และฐานะ
นั่นคือการมีวินัยในการใช้จ่าย ไม่ใช้จ่ายเกินตัว โดยอาจใช้วิธีทำงบการเงิน หรือทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองให้อยู่ในงบประมาณที่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา

2. วางแผนเก็บออมเงินสำหรับเป็นเงินเกษียณของตัวเอง
ใช้เครื่องมือการออมหรือการลงทุนที่ช่วยสร้างวินัยการออม เช่น ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ RMF ที่มีเงื่อนไขบังคับให้เราต้องออมเงินหรือลงทุนในระยะยาว โดยต้องออมหรือลงทุนอย่างสม่ำเสมอทุกปี และไม่สามารถถอนเงินมาใช้ได้ระหว่างทางจนกว่าจะเกษียณ

3. วางแผนค่าใช้จ่ายของลูกให้ครอบคลุมจนสำเร็จการศึกษา
โดยการสำรวจค่าเล่าเรียน และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของสถาบันการศึกษาที่วางแผนจะส่งบุตรไปเรียน ตั้งแต่ปัจจุบัน จนจบระดับชั้นที่ต้องการ ว่ารวมแล้วเป็นจำนวนทั้งหมดเท่าไหร่ โดยสำหรับค่าเล่าเรียนในชั้นสูงๆ ที่ยังมีเวลาอีกหลายปีกว่าจะถึงเวลาต้องจ่าย อาจจะใช้วิธีการลงทุน หรือออมเงินในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยให้การเตรียมเงินให้เพียงพอกับค่าเล่าเรียนในอนาคตได้

4. วางแผนทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ เพื่อโอนย้ายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
เราควรทำประกันชีวิตให้มีความคุ้มครอง หรือจำนวนเงินเอาประกัน เพียงพอกับ “ภาระการเงิน” ในชีวิตทั้งหมดที่เรามีอยู่ ได้แก่ “ภาระหนี้สินคงค้าง (หนี้บ้าน + หนี้รถ + หนี้สินอื่นๆ) + ค่าเลี้ยงดูผู้อยู่ในอุปการะจนกว่าจะเลี้ยงดูตัวเองได้ (รวมไปถึงค่าเล่าเรียนและค่าประกันชีวิตบุตรตั้งแต่ปัจจุบันจนเรียนจบ) + เงินที่ต้องการทิ้งไว้ให้ธุรกิจปรับตัว (สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจ) – มูลค่าเงินเก็บทั้งหมดที่เรามีอยู่” เพื่อให้แน่ใจว่า หากเราจากไปกะทันหัน ผู้ที่เราดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือธุรกิจ จะสามารถดำเนินทั้งชีวิตและธุรกิจต่อไปได้โดยไม่เดือดร้อนนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น

ถ้าเรามีหนี้บ้านเหลืออยู่ 3 ล้าน หนี้รถเหลืออยู่ 5 แสน ค่าเลี้ยงดูลูกเดือนละ 5,000 บาท ค่าประกันชีวิตลูกเดือนละ 500 บาท ที่ต้องเลี้ยงดูต่อไปอีก 10 ปี จนกว่าจะเรียนจบ โดยมีค่าเล่าเรียนจนกว่าจะเรียนจบประมาณ 1 ล้านบาท และต้องการทิ้งเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายให้ธุรกิจปรับตัว 5 ปี ประมาณ 5 ล้านบาท โดยที่ปัจจุบันเรามีเงินเก็บ ทั้งเงินออมและเงินลงทุนรวมอยู่ทั้งหมด 4 ล้านบาท

ดังนั้น เราควรมีความคุ้มครองชีวิตเท่ากับ (3,000,000 + 500,000) + ((5,000+500) x 12 x 10) + 1,000,000 + 5,000,000 – 4,000,000 = 6,160,000 บาท

ถ้าปัจจุบัน เรามีความคุ้มครองชีวิตทั้งหมดไม่ถึงจำนวนเงินดังกล่าว ก็แปลว่า เรายังมีประกันชีวิตไม่เพียงพอกับความเสี่ยงที่จำเป็น แม้เราอาจจะทำประกันชีวิตไว้อยู่หลายกรมธรรม์แล้วก็ตาม

เริ่มจากตรวจสอบสรุปกรมธรรม์ที่เรามี หรือยังขาดอยู่ เช่น

ประกันอุบัติเหตุ สำหรับคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล การทุพพลภาพ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ คือสิ่งที่ควรมีติดตัวไว้ก่อนอันดับแรก เนื่องจากค่าเบี้ยประกันไม่แพง และให้ความคุ้มครองสูง เพื่อคุ้มครองตัวเองและครอบครัวจากภัยอุบัติเหตุต่างๆ

ประกันสุขภาพ สำหรับคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลให้แก่ตัวเอง บุตรและคนในครอบครัว เพื่อไม่ให้เงินที่เก็บออมไว้ใช้สนับสนุนค่าเล่าเรียนบุตร หรือไว้ใช้ในยามเกษียณรั่วไหลไปกับค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน

ประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง เพื่อรองรับความเสี่ยงของค่ารักษาพยาบาลราคาแพง เมื่อต้องป่วยเป็นโรคร้ายแรงและชดเชยรายได้ขณะพักรักษาตัว

ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ สำหรับรองรับภาระการเงินจำนวนมากที่หัวหน้าครอบครัวต้องแบกรับ เพื่อให้ครอบครัวและคนข้างหลังมีชีวิตที่มั่นคงต่อไป สามารถเลือกแบบตามระยะเวลาจ่ายเบี้ยสั้น-ยาวได้ตามต้องการ

ประกันเพื่อการศึกษาบุตรและการเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตควบการลงทุน แบบประกันสะสมทรัพย์ หรือแบบประกันบำนาญแบบต่างๆ สำหรับเป็นทางเลือกในการออม ตามเป้าหมายที่ระยะเวลาต่างกัน

ด้วยเหตุนี้เอง ช่วงชีวิตของคนวัยกลางคน โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว จึงเป็นช่วงชีวิตที่ต้องรัดกุม ระมัดระวัง มีวินัยในการหารายได้ การใช้จ่าย และการเก็บออม โดยต้องไม่ประมาทกับชีวิต คิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะหากขาดการใส่ใจไปเพียงนิดเดียว ก็อาจสร้างปัญหาชีวิตและการเงินให้ครอบครัว แต่การวางแผนการเงินที่ดี จะช่วยให้เราผ่านชีวิตช่วงนี้ไปได้อย่างราบรื่นแน่นอน

หมายเหตุ

ข้อมูลนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเพื่อประกอบการนำเสนอเท่านั้น ผู้ขอเอาประกันภัยควรศึกษาและทำความเข้าใจในเอกสารเสนอขายก่อนตัดสินใจทำประกันภัย เมื่อได้รับกรมธรรม์แล้ว โปรดศึกษารายละเอียด ข้อกำหนดและเงื่อนไขในกรมธรรม์
ข้อกำหนดและเงื่อนไขของความคุ้มครองจะระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้กับผู้ถือกรมธรรม์

We will be happy to hear your thoughts

Leave a reply

SRIYAWEALTHPLAN.COM : บริการวางแผนการเงินออนไลน์ โดยที่ปรึกษาทางการเงิน มืออาชีพ
Logo